หลักการทั่วไป
-
หน้าหลัก
- หลักการทั่วไป
หลักเกณฑ์ทั่วไป
ในปัจจุบันการค้าและการลงทุนของโลกเปิดเสรีมากขึ้น ประกอบกับมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและ สารสนเทศที่ทันสมัย ทําให้การค้าและการลงทุนของโลกขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีการเคลื่อนย้ายสินค้าและการลงทุนอย่างเสรีส่งผลให้ปริมาณการนําเข้าส่งออกสินค้าทั่วโลกมีมากขึ้น ผลจากการพัฒนาเทคโนโลยีและสารสนเทศ ทําให้ธุรกิจ E-Commerce มีการขยายตัวและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ส่งผลให้ปริมาณการใช้บริการพัสดุไปรษณีย์ (Parcels) เติบโตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย บริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2546 โดยแปลงสภาพมาจากหน่วยงานบริการด้านไปรษณีย์ของการสื่อสารแห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดําเนินงานเชิงธุรกิจ โดยบริการของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด มีทั้งบริการไปรษณีย์ ในประเทศและระหว่างประเทศ การนําเข้าและส่งออกทางไปรษณีย์มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการศุลกากร ดังนั้นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บอากรและอํานวยความสะดวกแก่ผู้รับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด และกรมศุลกากร จึงได้ทําข้อตกลงร่วมกันในการดําเนินการกับสิ่งของที่นําเข้าและส่งออกทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ตามความ ตกลงที่ทําขึ้นเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2555 เมื่อสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศมาถึงประเทศไทย บริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด จะรับมอบ ถุงไปรษณีย์จากผู้ขนส่ง ณ ที่ทําการแลกเปลี่ยนถุงไปรษณีย์กับต่างประเทศ โดยมีสํานักงานหรือด่านศุลกากร ประจําที่ทําการไปรษณีย์อันเป็นที่ทําการแลกเปลี่ยนถุงไปรษณีย์ระหว่างประเทศ เป็นผู้กํากับ ตรวจสอบ และควบคุม สิ่งของที่นําเข้า ได้แก่
1. สํานักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิประจําที่ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ
2. ด่านศุลกากรท่าอากาศยานหาดใหญ่ ประจําที่ศูนย์ไปรษณีย์หาดใหญ่
3. ด่านศุลกากรหนองคาย ประจําที่ศูนย์ไปรษณีย์อุดรธานี
4. ด่านศุลกากรอรัญประเทศ ประจําที่ทําการไปรษณีย์อําเภออรัญประเทศ
ภายหลังจากนั้นบริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด จะลําเลียงถุงไปรษณีย์ไปที่ศูนย์ไปรษณีย์โดยพัสดุ ไปรษณีย์ทางอากาศและพัสดุไปรษณีย์ทางภาคพื้น จะถูกลําเลียงไปที่ศูนย์ไปรษณีย์กรุงเทพ ไปรษณีย์ด่วนพิเศษ ไปรษณียภัณฑ์ลงทะเบียน และไปรษณียภัณฑ์ธรรมดา จะถูกลําเลียงไปที่ศูนย์ไปรษณีย์หลักสี่ หลังจากนั้นของที่นําเข้า จะถูกเปิดตรวจโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรและพนักงานของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด เพื่อคัดแยกประเภทในการปฏิบัติพิธีการศุลกากร โดยถือว่าวันที่เปิดถุงไปรษณีย์คือวันที่นําเข้าสําเร็จ
ในการรับของที่ผู้ส่งจากต่างประเทศส่งเข้ามาถึงผู้รับ (ผู้รับถือว่าเป็นผู้นําของเข้า) รวมทั้งในการส่งของ ออกไปต่างประเทศ (ผู้ส่งถือว่าเป็นผู้ส่งของออก) ต้องปฏิบัติพิธีการศุลกากรให้ครบถ้วนตามพระราชบัญญัติ ศุลกากร พ.ศ. 2560 และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง กับต้องยื่นใบขนสินค้าโดยถูกต้องและเสียอากรจนครบถ้วน ซึ่งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากร จะเป็นกฎหมายที่ควบคุมการนําเข้าและส่งออกสินค้าที่อยู่ในความ รับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น ๆ โดยของที่ควบคุมการนําเข้าส่งออกมี 2 ประเภท คือ ของต้องห้ามและ ของต้องกํากัด
ของต้องห้าม (Prohibited Goods)
ของต้องห้าม คือของที่มีกฎหมายกําหนดห้ามมิให้นําเข้าหรือส่งออกโดยเด็ดขาด ผู้นําเข้าหรือส่งออก จะมีความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และของนั้นจะถูกยึดและดําเนินคดีตามกฎหมาย ตัวอย่างของต้องห้าม เช่น บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า ยาเสพติดให้โทษ ของละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา วัตถุหรือสื่อลามก เครื่องเล่มเกม เงินตรา พันธบัตร เหรียญกษาปณ์ ใบสำคัญรับดอกเบี้ยพันธบัตร อันเป็นของปลอมหรือแปลง เป็นต้น
ของต้องกํากัด (Restricted Goods)
ของต้องกํากัด คือของบางชนิดที่กฎหมายกําหนดให้มีการขออนุญาตนําเข้ามาหรือส่งออกไป นอกราชอาณาจักร ดังนั้น การนําเข้าและการส่งออกของต้องกํากัดต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องนํามาแสดงในเวลาปฏิบัติพิธีการศุลกากร หรือต้องส่งข้อมูลการอนุญาตในระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตัวอย่างของต้องกํากัด เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ พืช และส่วนต่าง ๆ ของพืช ปุ๋ยเคมี สุรา ยาสูบ ยาเส้น บุหรี่ ซิการ์ โดรน วิทยุสื่อสาร อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง สิ่งเทียมอาวุธปืน เป็นต้น
ทั้งนี้ผู้นําของเข้าและผู้ส่งของออกต้องศึกษากฎหมายและประกาศของหน่วยงานที่รับผิดชอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 25 มีนาคม 2565 13:23:55
จำนวนผู้เข้าชม : 3,279
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์
ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์ สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ, 111 ซอย 5 ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ 10210
หมายเลขโทรศัพท์ : 0-2575-1002
อีเมล์ : 16010200@customs.go.th